การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์

COVID-19 “จุดเปลี่ยน” ครั้งใหญ่ของวงการการศึกษา

สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ และเป็นชะตากรรมร่วมกันของคนทั้งโลก ผู้คนต่างเฝ้าพะวงและใจจดจ่ออยู่กับเจ้าไวรัสชนิดนี้กันทุกวี่วัน

ในขณะที่บ้านเราก็ยังน่าห่วงอยู่มาก แม้จะมีมาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐทยอยออกมาเพื่อหาทางป้องกัน และช่วยเหลือผู้คนในชาติ แต่ดูเหมือนสถานการณ์ก็ยังคงหนักหน่วง แต่ถ้ามองในแง่ดี เราก็จะเห็นความพยายามปรับตัวกันในทุกภาคส่วน

และหนึ่งในการปรับตัวครั้งใหญ่แบบกะทันหัน ก็คือ เรื่องของการศึกษา เพราะเป็นเรื่องที่เด็กและเยาวชนจากทั่วโลกได้รับผลกระทบกันถ้วนหน้า ทำให้สถาบันการศึกษาในทุกระดับต้องปิดเรียนกะทันหัน และต้องปรับตัวหันมาใช้รูปแบบการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์

จนกลายเป็นว่าจากสถานการณ์ COVID-19 ถือเป็น “จุดเปลี่ยน” ครั้งใหญ่ของวงการการศึกษาในทุกระดับชั้นเรียนแทบจะทันที โดยการนำ “เทคโนโลยี” มาใช้กับการเรียนการสอน ทำให้ต้องปรับตัวกันครั้งใหญ่ทั้งนักเรียน นักศึกษา ครูบาอาจารย์ ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับชั้นของการศึกษา รวมไปถึงพ่อแม่ผู้ปกครอง และนั่นหมายความว่าภาครัฐเองก็ควรจะใช้ช่วงเวลานี้ในการสะท้อนปัญหาและอุปสรรคก่อนจะนำไปสู่แนวทางที่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบการศึกษาในบ้านเรา

เพราะก่อนหน้านี้ก็ได้มีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน แต่ก็ประสบปัญหาและอุปสรรคมากมาย ทั้งเรื่องระบบ คน ความพร้อม เงิน และอื่นๆ อีกมากมาย

แต่เมื่อประเทศต้องประสบกับปัญหาการระบาดของ COVID-19 ในครั้งนี้ ดูเหมือนว่ามันได้กลายเป็นเรื่องที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องปรับตัวใน “ทันที” กันถ้วนหน้า

วึ่งก่อนหน้านี้ UNESCOได้คาดการณ์ว่ามีนักเรียน นักศึกษากว่า 363 ล้านคนทั่วโลก ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19และประมาณการณ์ว่ามีสถาบันการศึกษาทั้งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง ยุโรป และอเมริกาเหนือ ได้ปิดการเรียนการสอนที่โรงเรียน และมหาวิทยาลัย ขณะที่สถาบันการศึกษาในหลายประเทศ ได้นำเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้ เพื่อเปิดการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์

จีนเป็นประเทศแรกที่ประสบปัญหานี้ และเป็นประเทศแรกที่ประกาศหยุดกิจกรรมการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษา ได้หันไปเปิดการเรียนการสอนทางออนไลน์ทั้งระบบโดยกระทรวงศึกษาธิการได้ออกแนวทางปฏิบัติและระบุว่าสถาบันการศึกษาควรใช้ประโยชน์จากหลักสูตรการเรียนการสอนออนไลน์ทุกประเภท รวมถึงแพลตฟอร์มทรัพยากรห้องปฏิบัติการ เพื่อจัดการศึกษาออนไลน์ และใช้วิธีดำเนินมาตรการเพื่อตรวจสอบว่าการเรียนออนไลน์จะมีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับการเรียนการสอนในห้องเรียนได้

มาตรการต่างๆ เหล่านี้เป็นแนวทางการแก้ปัญหาของทางการจีน ที่แก้ปัญหาได้อย่างฉับไว ทันท่วงที และใช้เทคโนโลยีให้เป็นประโยชน์ โดยการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ และให้ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้เหมาะสมกับสถานการณ์

การเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์

ในขณะที่หลายประเทศทั่วโลกต่างก็ปรับตัวกันขนานใหญ่ มีการประกาศใช้การเรียนการสอนหลากหลายรูปแบบ ซึ่งมีทั้ง การเรียนแบบเสมือนจริง (Virtual Education) หรือการออกแบบการเรียนการสอนให้อยู่บนระบบ Cloud และใช้ออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเรียนการสอน เพื่อผู้เรียนสามารถเรียนได้จากทางไกล

อีกทั้งยังมีแอพพลิชันเกี่ยวกับการศึกษา และมีเทคโนโลยี AR, VR และ AI ในการตอบโจทย์ทางด้านการศึกษาให้กับผู้เรียนได้ เพราะเทคโนโลยีสามารถเปลี่ยนบทบาทครูผู้สอน จากที่เคยเป็นผู้ชี้นำ ไปสู่การเป็นผู้สนับสนุน และให้คำแนะนำแก่ผู้เรียน

การนำเทคโนโลยีด้านการศึกษา(Educational Technology)มาใช้ในการเรียนการสอน ช่วยให้การนำเสนอเนื้อหาการเรียนการสอนมีความน่าสนใจ และสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างนักเรียนและครูได้มากขึ้น อีกทั้งยังทำให้เราได้รู้จักแพลตฟอร์มเทคโนโลยีมากมายที่ถูกนำมาใช้กับการเรียนการสอนผ่านทางระบบออนไลน์

บ้านเราก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ในหลายมหาวิทยาลัยได้มีการประกาศการเรียนการสอนรูปแบบออนไลน์ โดยให้อาจารย์ผู้สอนเป็นผู้จัดคลาสเรียนออนไลน์ และสามารถเลือกประยุกต์ใช้แพลตฟอร์มการสอนที่เหมาะสม อาทิ Facebook Broadcast, Microsoft Team, Google Classroom ,Moodle , Zoom, Blackboard Collaboration, Line, Webinar หรือ Google Meet ขึ้นอยู่กับลักษณะการเรียนการสอนในแต่ละรายวิชา

แต่ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องการเรียนออนไลน์นั้นมีข้อจำกัดในเรื่องของความพร้อมส่วนบุคคลมากมาย โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาที่อยู่ต่างจังหวัด มีคุณครูที่ยังไม่มีความคุ้นชินกับโปรแกรมต่าง ๆ นักเรียนก็ไม่มีอุปกรณ์ รวมถึงสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่ยังไม่ดีนัก

ดังนั้นหากสถาบันการศึกษาต้องปิดนานออกไปอีก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องวางแผนกันอย่างจริงจังว่าจะสนับสนุนอย่างไร และถือเป็นโอกาสที่ภาครัฐจะได้ประเมินความพร้อมอย่างรอบด้านด้วย

วิกฤตในครั้งนี้ทำให้สถาบันการศึกษา ทั้งผู้เรียนผู้สอนได้ปรับตัวให้ชินกับการเรียนออนไลน์ ซึ่งหลายวิชาเริ่มเห็นทิศทางความเป็นไปได้ในการเรียนออนไลน์ และนี่นับเป็นโอกาสการต่อยอดในอนาคต

สอดคล้องกับคณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ซึ่งได้กำหนดเรื่องการปฏิรูปการศึกษาไว้ทั้งสิ้น 7 เรื่อง และเรื่องดิจิทัลก็เป็น 1 ใน 7 เรื่องนั้น คือ เรื่องการปฏิรูปการศึกษาและการเรียนรู้โดยการพลิกโฉมด้วยระบบดิจิทัล ( Digitalization for Educational and Learning Reform) โดยมีเป้าหมายรวม เพื่อพัฒนาระบบดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อการเรียนรู้แห่งชาติ (National Digital Learning Platform) ในการปรับเปลี่ยนระบบการศึกษา สร้างคุณภาพ ลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้ก้าวกระโดดทันกับพัฒนาการของโลก ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

โดยมีตัวชี้วัดเรื่อง แพลตฟอร์มการเรียนรู้ด้วยดิจิทัลที่เกิดจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในลักษณะ Social Enterprise และคนทุกช่วงวัยนำไปใช้อย่างแพร่หลาย เกิดเครือข่ายทั่วประเทศและนำไปสู่การเรียนรู้ตลอดชีวิต และยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยไปสู่สากล

การเรียนออนไลน์ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพียงแต่มันมาเร็วกว่าที่คาด ฉะนั้นก็ถือโอกาสว่าวิกฤตการแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นโอกาสในการปฏิรูปการศึกษาซะเลยเพราะถ้าเราใช้วิกฤตเป็นโอกาส มองปัญหาให้เป็นการเรียนรู้ และมองเด็กวันนี้เป็นอนาคต เราก็จะมองเห็นวิธีการ และการแก้ไขปัญหาเพื่อนำไปสู่เป้าหมายได้นั่นเอง

ติดตามเพิ่มเติมได้ที่ sake-hakuchou.com

Releated